การทำงาน ของ อภิชาติ ดำดี

นักเขียน / นักประพันธ์

นอกจากความสามารถทางด้าน “วาทศิลป์” แล้ว ดร.อภิชาติ ดำดี ยังเป็นนัก “วรรณศิลป์” ที่มีผลงานการประพันธ์หลายรูปแบบ ทั้งบทกวี, เรื่องสั้น, คำขวัญ,บทละคร, บทเพลง, บทเพลงพื้นบ้าน, บทความ ฯลฯ

ในช่วงชีวิตนักศึกษา ดร.อภิชาติ ดำดี ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณศิลป์ไว้มากมาย เป็นเจ้าของนามปากกา “ดินสอโดม” ได้รับรางวัลจากการประกวดงานเขียนอาทิ

  • บทกวี “เยาวชน” ชนะเลิศการประกวดบทกวี จัดโดยชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2522
  • เรื่องสั้น “คืนนี้ไม่มีเพลงแคน” ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้น จัดโดยชุมนุมวรรณศิลป์ 10 สถาบัน ปี 2523
  • บทกวี “ 50 ปี ธรรมศาสตร์” ชนะเลิศการประกวด จัดโดยสหกรณ์ร้านค้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2527
  • บทกวี “WHAT’ S LOVE” ชนะเลิศการประกวดบทกวีภาษาอังกฤษ จัดโดยศูนย์ภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2527
  • บทเพลง "โดมเริงใจ" ชนะเลิศการประกวดบทเพลง 50 ปี ธรรมศาสตร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2527 ฯลฯ

ถึงขณะนี้ ดร.อภิชาติ ดำดี มีงานเขียนที่รวมเล่มเป็นหนังสือแล้ว อาทิ

  • “แมนทูวูแมน” (รวมบทความ จัดพิมพ์ครั้งที่ 1,2 โดยสำนักพิมพ์บุ๊คแบงก์)
  • “วาไรตี้ทอล์ค” (รวมบทความ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บุ๊คแบงก์)
  • “ชีพจรลงปาก” (รวมบทความ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อิ่มอักษร)
  • “ทอล์คโชว์อันซีน” (ร่วมเขียนกับคณะวิทยากร สำนักพิมพ์ต่วยตูน)
  • “ติดอาวุธนักบริหาร” (ร่วมเขียนกับคณะวิทยากร สำนักพุทธศิลป์สาส์น)
  • ร่วมเขียนชุดวิชา “เสริมประสบการณ์ผู้นำชุมชน” หลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับผู้นำชุมชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นักจัดรายการ

ดร.อภิชาติ ดำดี เข้าสู่วงการโทรทัศน์ เมื่อปี 2526 โดยเริ่มต้นจากการเป็นวิทยากรรับเชิญในรายการเวที-วาที ช่อง 5 ของคุณกรรณิกา ธรรมเกษร จากนั้นได้มีโอกาสเป็นผู้พากย์, เป็นพิธีกรและเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์หลายรายการ อาทิ

  • ผู้พากย์สารคดีสั้นกึ่งละคร ชุด “บ้านทุ่งพัฒนา” ช่อง 7
  • พิธีกรรายการ “ผู้ใหญ่บ้านดำดี” ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
  • ผู้ผลิตรายการ “สดใสวัยแข็งแรง” ช่อง 11
  • ผู้ผลิตรายการ “สายตรงอบต.” ช่อง 3
  • ผู้บรรยายรายการ “ไม่ลองไม่รู้” ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
  • ผู้จัดรายการ “ลูกทุ่งทอล์คโชว์” สถานีวิทยุ อสมท. คลื่น เอฟเอ็ม 90.0 และ 95.0 เมกกะเฮิร์ซ์

รายการโทรทัศน์และวิทยุที่ดร.อภิชาติ ดำดีเป็นผู้ดำเนินรายการหรือเป็นผู้ผลิตนั้น ส่วนใหญ่เป็นสาระบันเทิงที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้สู่ชุมชน ทั้งในด้านการเกษตร, การแนะนำอาชีพ, ภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทย, การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมิติต่างๆ รายการโทรทัศน์ที่ทำให้ดร.อภิชาติ ดำดี มีภาพลักษณ์ของนักส่งเสริมการเกษตรอย่างเด่นชัด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยาวนานในกลุ่มเป้าหมายระดับชาวบ้านคือรายการ “ผู้ใหญ่บ้านดำดี” ช่อง 9 อสมท.

งานการเมือง

ดร.อภิชาติ ดำดี มีความสนใจทางการเมืองมาตั้งแต่วัยเรียน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อเนื่องถึงช่วงที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเพียง 2 ปี ดร.อภิชาติ ดำดี ก็ได้เริ่มต้นทำงานการเมือง โดยได้รับการคัดสรรจากพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตกรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2529 และการเลือกตั้งซ่อม ปี 2530 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง

ต่อมาเมื่อปี 2549 ดร. อภิชาติ ดำดี ได้ตัดสินใจกลับมาทำงานการเมืองอีกวาระหนึ่ง โดยการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่จังหวัดกระบี่บ้านเกิด และครั้งนี้ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกระบี่ แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ก็เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 จากนั้นมาในปี 2550 ดร.อภิชาติ ดำดีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 การทำหน้าที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ดร.อภิชาติ ดำดี ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หลายเรื่อง กล่าวคือ

การนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศและการบริหารราชการแผ่นดิน ดังบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมาตรา 83 และมาตรา 78, การรักษา พัฒนาและให้ความคุ้มครองที่ต้องครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยในมาตรา 86 (2) รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะในมาตรา 47 และการเร่งรัดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ภายใน 180 วันนับแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในบทเฉพาะกาลมาตรา 305 (1)

นอกจากการทำหน้าที่อภิปราย, แปรญัตติ, ร่วมงานในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ดร.อภิชาติ ดำดี ได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จังหวัดกระบี่ ร่วมกับบุคลากรในพื้นที่ดำเนินการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นประชาชนจังหวัดกระบี่ เพื่อนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดกิจกรรม, การจัดทำสื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลงประชามติทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผลการลงประชามติในจังหวัดกระบี่จึงปรากฏว่ามีประชาชนเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

จากการทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ในปี 2550 ดร.อภิชาติ ดำดี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 “จตุตถดิเรกคุณาภรณ์”

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557 นายอภิชาติ ดำดี ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกระบี่ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 58 คน เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557[2]

อภิชาติ ดำดี เข้าปฏิญาณตนปฏิบัติหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 และได้ทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการปปช. ตั้งแต่วันแรกของการเข้าทำงานที่วุฒิสภา ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม วุฒิสภาได้มีการประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 อภิชาติ ดำดี เป็นหนึ่งในแกนนำสมาชิกวุฒิสภาจากภาคใต้ที่ช่วยกันสนับสนุนเลือก สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในขณะนั้นให้เป็นประธานวุฒิสภา และสนับสนุนให้ พีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2

งานวิทยากร

นอกจากจะเป็นผู้ประกอบการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสื่อสารมวลชนแล้ว ดร.อภิชาติ ดำดี ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรและผู้บรรยายรับเชิญในหัวข้อต่างๆ ให้กับสถาบันการศึกษา, สถาบันฝึกอบรมมัลติสมาร์ท (www.multi-smart.com), หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการองค์กรทางสังคมอีกหลายองค์กร

ใกล้เคียง

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อภิชาติ หาลำเจียก อภิชาติ ดำดี อภิชาติ พัวพิมล อภิชาติ ชูสกุล อภิชาติ ศิริสุนทร อภิชาติ ทวีเฉลิมดิษฐ์ อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย อภิชาติ สุภาแพ่ง อภิชาติ ผลพูน